top of page

อนาคตจากเราแต่ไม่ใช่ของเรา เสียงสะท้อนจากอนาคต ความยั่งยืนที่ยังไม่ยั่งยืน

ในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ.2526) คณะกรรมการชุดหนึ่งถูกจัดตั้งโดยเลขานุการสหประชาชาติ เพื่อประเมินการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และอุตสาหกรรมที่เริ่มมองเห็นละว่าเสื่อมโทรมลงอย่างน่ากลัว คณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้เพียงแค่ประเมินสภาพอันเลวร้ายของมนุษย์ที่ผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้น แต่ยังเขียนถึงอนาคตที่เราควรจะเป็นควรจะทำอีกด้วย คณะกรรมการดังกล่าวมีชื่อว่าคณะกรรมการบรันท์แลนด์ รายงานดังกล่าวมีชื่อว่า อนาคตร่วมของเรา (มวลมนุษยชาติ) (Our common future) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ รายงานของบรันท์แลนด์ (Brundtland Report) เนื้อหาสำคัญของรายงานดังกล่าวคือจุดกำเนิดของ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่กลายเป็นรากฐานสำคัญของแผนต่างๆ ทั่วโลกในการพัฒนา เป็นรายงานที่ส่งเสียงดังที่สุด ในฐานะตัวแทนของโลก ทั้งในการประชุมเอริ์ทซัมมิท (Earth Summit) เมืองริโอ ดิ จาเนโร ประเทศบราซิล คำกล่าวที่ส่งเสียงได้ชัดถ้อยชัดคำ คือ การนิยามการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า คือ “การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของปัจจุบันโดยไม่ส่งผลกระทบต่อ ขีดความสามารถของ คนรุ่นต่อไป ในการใช้ทรัพยากรนั้นๆ” (Sustainable development is development that meets the needs of the present without compromising the ability of future generations to meet their own needs)

ปี 2006 สารคดีเรื่องนึงได้รับความสนใจไปทั่วโลก กวาดรางวัลไปมากมาย มีรายได้รวมมหาศาล ไม่บ่อยนักที่จะเจอสารคดีที่ทำเงินได้มากขนาดนี้ โดยเฉพาะสารคดีที่ส่งเสียงสำคัญของโลก An Inconvenient Truth โดย อัล กอร์ อดีตผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงภาวะโลกร้อน ความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ และการพัฒนาอย่างสุดโต่งโดยไม่สนใจโลกของมนุษย์ ภาพของอัล กอร์ขึ้นกระเช้าเพื่อแสดงให้เห็นถึงกราฟการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ เป็นการนำเสนอที่แสดงให้เห็นถึงความสุดโต่ง และสาเหตุของภาวะโลกร้อนของมนุษย์อย่างชัดเจนที่สุด หากมองข้ามเรื่องทางการเมืองที่มักสอดแทรกในภาพยนตร์ดังกล่าว สารที่ถูกสื่อออกมาเพื่อแสดงถึงความเสี่ยงในอนาคตหากเรายังใช้ทรัพยากรดั่งเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่สนความบอบช้ำของโลก ก็เป็นเสียงอีกเสียงที่ส่งเสียงเตือนถึงภัยอันตรายที่ขยับเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที

อัล กอร์แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤตของโลกร้อน ในภาพยนตร์ An Inconvenient Truth ปี ค.ศ. 2006

ปี 2018 สาวน้อยคนหนึ่งออกมาส่งเสียงสำคัญในที่ประชุมโลกร้อน กล่าวถึงอนาคตที่ถูกขโมยไปของเยาวชน เกรตา ทูนเบร (Greta Thunberg) อายุ 15 จากสวีเดน สะท้อนเสียงจากอนาคตอย่างฉะฉาน ตรงไปตรงมา และมีพลังอย่างยิ่ง เกรตาพูดถึงความพยายามในการสร้างความยุติธรรมกับสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน โดยกล่าวตรงๆ ว่า “โลกที่เสียสละมากมายเพียงเพื่อให้คนไม่กี่คน อย่างเช่นประเทศของฉันสวีเดน อยู่อย่างสุขสบาย” ร่วมถึงถามหาความรับผิดชอบของคนรุ่นปัจจุบันต่อสิ่งแวดล้อมของโลกที่ถูกทำลาย และยังแอบต่อว่าผู้นำของโลก (รวมถึงผู้ใหญ่ในปัจจุบันด้วย) ถึงความไม่แยแสต่อปัญหาสำคัญเหล่านี้ “คุณบอกว่าคุณรักลูกรักหลานมากกว่าสิ่งอื่นใด แต่คุณก็ยังขโมยอนาคตของพวกเราไปต่อหน้าต่อตา” (You say you love your children above all else, and yet you are stealing their future in front of their very eyes.) สุนทรพจน์ของเกรตาเป็นเสียงของคนรุ่นต่อไปที่จะอยู่อาศัยบนโลกใบนี้ต่อจากเรา ที่กระตุกความคิดอย่างแรงถึงการกระทำของเราที่จะส่งผลต่อคนรุ่นต่อไปหากเรายังไม่คำนึง และทำการใดการนึงเพื่อลดผลกระทบจากโลกร้อน

หนูน้อย Greta Thunberg แสดงสุนทรพจน์ในงาน COP24 ในปี 2018

จากคำนิยามและการวางเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนของคณะทำงานบรันท์แลนด์ ความจริงที่น่าตกใจจากสารคดี An inconvenient truth จนมาถึงเสียงจากอนาคตของน้องเกรตา สะท้อนความจริงที่ว่าเรายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อลดผลกระทบจากโลกร้อนเลยแม้แต่นิดเดียว บางครั้งเราอาจจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว เป็นของรัฐที่ต้องจัดการ เป็นเรื่องของนักสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งคาดหวังว่าจะมีฮีโร่ มีนักวิชาการหัวกะทิคิดค้นอะไรซักอย่าง เพื่อจัดการกับภาวะเรือนกระจก เราทุกคนมองข้ามพลังของปัจเจก ที่จะช่วยลดภาวะดังกล่าวได้ หากทุกคนคิดถึงการกระทำตามกิจวัตรทั่วไปว่าจะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปอย่างไร เตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่าทุกครั้งที่เราใช้ทรัพยากรโดยไม่จำเป็น เราขโมยทรัพยากรลูกหลานของเรา ทำลายอนาคตผ่านมลภาวะ ในการจัดการภาวะโลกร้อนสิ่งสำคัญที่สุดอย่างแรกคือการรับรู้อยู่เสมอว่ามันเริ่มจากตัวเราเองนี้แหละที่จะเก็บรักษาสิ่งสวยงามให้กับคนรุ่นไป ไม่ต้องให้ลูกหลานมาต่อว่าทีหลังได้ว่า ตอนที่คุณทำได้ ทำไมไม่ทำ

 

อยากอ่านเอกสาร อนาคตร่วมของเรา (Our Common Future) ได้ที่

หาดูภาพยนตร์เรื่อง An inconvenient truth ได้ตามร้านภาพยนตร์ทั่วไป หรืออ่านภาคต่อ then and now ที่มีการเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงภาวะโลกร้อนตามเวลาได้ที่

ฟังเสียงสะท้อนจากสุนทรพจน์ที่ทรงพลังของเกรตา ทุนเบร ได้ที่

 

สงวนลิขสิทธิ์ © ศูนย์อยู่ดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300

bottom of page