top of page

ภัยพิบัติโลก กับ (ผังเมือง) บ้านเฮา

เชื่อว่าทุกท่านน่าจะสัมผัสได้ถึงความรุนแรงของพิบัติภัย ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที ไม่ใช่เฉพาะในระดับโลกเท่านั้นแต่รู้สึกได้โดยประสบการณ์ตรงเลยทีเดียว

ในปี ค.ศ. 2005 คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียรวมกับธนาคารโลกได้ทำวิจัยวิเคราะห์ความรุนแรงและผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติทั้งหมดได้แก่ น้ำท่วม ความแห้งแล้ง แผ่นดินไหว พายุฝน ภูเขาไฟ ดินถล่ม ที่ส่งผลต่อพื้นที่นั้นๆ เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP)ต่อขนาดพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนานั้นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่จะส่งผลต่อมนุษย์โดยตรงในหลายๆ มิติซึ่ง GDP ต่อพื้นที่จะบอกได้ถึงพื้นที่ที่มนุษย์มีการอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากน้อยแตกต่างกันรวมไปถึงการประเมินด้านการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยธรรมชาติดังกล่าว ซึ่งต่อมาผลวิจัยดังกล่าวได้นำไปสู่การประเมินความเสี่ยงด้านภัยพิบัติกับการพัฒนาโดยธนาคารโลกในปี ค.ศ. 2006(Hazard of Nature: Risk to Development, World Bank, 2006) เพื่อเป็นนโยบายให้ธนาคารโลกสามารถกำหนดตัวเลขในการออกเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูประเทศนั้นๆ หลังจากเกิดภัยพิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ที่เสียงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ จากผลการศึกษา สีแดง เหลือง และฟ้า หมายถึงมาก กลาง น้อยตามลำดับ (ที่มา: Natural Disaster Hotspot Synthesis report,Maxx Dillly at el, 2005)

ผลการรายงานที่ออกมานั้นค่อนข้างน่าตกใจสำหรับเลยทีเดียวที่พบว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นอันดับที่ 13 ของโลกหากเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ 1 หรือ 2 ครั้ง การศึกษาแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงทีหากเกิดภัยพิบัติชนิดต่าง ๆ เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับ GDP และพื้นที่ที่มีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งในการประเมินครั้งนี้ได้ตัดประเทศที่ไม่ได้มีการกู้ยืมเงินออกไป(ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว) จากการจัดอันดับดังกล่าวประเทศไทยอยู่ในอันดับที่สูงกว่าเมกซิโกที่มีการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและความถี่สูง หรือ อินโดนีเซียที่มีแผ่นดินไหว ภูเขาไฟถล่มด้วยซ้ำไป ผลกระทบดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่ส่งผลต่อตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวยังบอกถึงความพร้อมในการเตรียมการรับมือแผ่นดินไหวของประเทศนั้นๆ อีกด้วย ในประเทศเวเนซุเอล่าหลังจากได้รับรายงานด้านความเสี่ยงต่อการเกิดพิบัติภัยทางธรรมชาติ ก็ได้มีการตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อป้องกัน(มิใช่ตามแก้ไขเพียงอย่างเดียว) แนวโน้มของภัยพิบัติดังกล่าวแม้ว่าประเทศนี้จะอยู่ในอันดับความเสี่ยงที่ 21 ของโลก แต่ก็มีการเตรียมทั้งทางด้านผังเมือง การออกแบบชุมชนเมือง รวมไปถึงงานวิจัยที่รองรับความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ หากเกิดพิบัติภัยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้น

ในส่วนของการป้องกันภัยที่เกิดขึ้นยังไม่มีการวางแผนที่แน่ชัดโดยเฉพาะในการวางผังเมือง ออกแบบชุมชนเมือง แม้ว่าหนึ่งในการประเมินเพื่อการวางผังเมืองเมืองใดเมืองนึงนั้นจะมีเรื่องของปัจจัยในการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเข้าไปอยู่ในปัจจัยแล้ว แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ดังกล่าวในรายละเอียดก็ยังไม่ได้กล่าวถึงพื้นที่ว่างเพื่อรองรับเป็นพื้นที่ฉุกเฉินหรือพื้นที่ชั่วคราว หรือแม้กระทั่งสนับสนุนพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่หรือศักยภาพในการป้องกันภัยพิบัติที่เหมาะสมที่มีอยู่ในแต่ละเมืองโดยเฉพาะเมืองประวัติศาสตร์ ให้สามารถมีศักยภาพในการรองรับเป็นพื้นที่ดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น(เช่นวัด โรงเรียน พื้นที่สวน) ทั้งยังไม่สามารถควบคุมระดับความสูงอาคาร และความหนาแน่นของการใช้พื้นที่เมืองได้อย่างจริงจังด้วยซ้ำไป หากเรามีการบูรณาการระหว่างแนวความคิดใหม่ของการป้องกันภัยพิบัติ และภูมิปัญญาดังเดิมในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเมืองก็น่าจะเป็นการดีในการรองรับภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

จัดอันดับความเสี่ยงต่อการภัยพิบัติต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมและพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน (ที่มา: Hazard of Nature, Risk to development, World Bank, 2006)

 

สงวนลิขสิทธิ์ © ศูนย์อยู่ดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300

bottom of page