top of page

Nature and Mental wellbeing

“Nature is not merely “nice”. It is not just a matter of improving one’s mood, rather it is a vital

ingredient in healthy human functioning.” (Kaplan 1992 p. 141)

Photo by Janjira Sukwai

“ถ้าเราเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า...” นี่คงไม่ใช่เป็นเพียงท่อนหนึ่งในบทเพลงยอดนิยมหรือเป็นแค่ความเชื่อเท่านั้น

ว่ากันว่า เมื่อเราเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือความเครียดจากความรีบเร่งในชีวิตประจำวัน ให้เราหนีไปพักในที่ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ จะช่วยให้เราผ่อนคลาย หรือแม้แต่การให้พักสายตาด้วยการมองต้นไม้สีเขียว (หรือบางทีแม้แต่สิ่งใดก็ตามที่เป็นสีเขียว) เพื่อคลายความเหนื่อยล้าเมื่อต้องจดจ่อหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

เคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แท้ที่จริงแล้วธรรมชาติช่วยให้เราผ่อนคลายได้จริง ทั้งยังมีงานวิจัยหลากหลายช่วยสนับสนุนความคิดนี้ ว่าการได้สัมผัสกับธรรมชาติ หรือการมองพื้นที่สีเขียว มีผลด้านบวกต่อคนที่ประสบกับภาวะความเครียดสูง ดังเช่น ผู้ป่วย (Ulrich 1984) และสิ่งเร้าในองค์ประกอบทางธรรมชาติยังช่วยให้มนุษย์เกิดความรู้สึกมีความสุขและทำให้สามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจได้จากความเหนื่อยล้า (Kaplan 1995; Kaplan 2001)

พื้นที่สีเขียวมีผลกับมนุษย์จริงหรือ

จริง ๆ แล้ว พื้นที่สีเขียวมีผลต่อมนุษย์เราในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านอารมณ์และความรู้สึก มีหลายงานวิจัยที่ได้พิสูจน์สมมติฐานนี้ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาในเมืองเอดินเบิร์ก ประเทศอังกฤษ นักวิจัยได้ทำการทดลองให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเดินเป็นเวลา 25 นาทีในพื้นที่แตกต่างกันซึ่งแบ่งเป็นสามโซนด้วยกัน คือ โซนถนนในย่านช้อปปิ้งในเมือง โซนที่มีพื้นที่สีเขียวตลอดเส้นทาง และโซนถนนย่านธุรกิจการค้าที่พลุกพล่าน โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) บันทึกผล พบว่า การเดินในพื้นที่สีเขียวมีผลต่อการทำงานของสมองซึ่งเชื่อมโยงกับความรู้สึกผ่อนคลายและฟื้นฟูสภาพจิตใจจากความเครียด (Aspinall และคณะ 2015)

แล้วพื้นที่สีเขียวมีผลกับมนุษย์อย่างไร ทำไมเราถึงรู้สึกอยากสัมผัสกับพื้นที่สีเขียวเมื่อเกิดความเครียดหรือเหนื่อยล้า

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของมนุษย์และสาเหตุที่ทำให้จิตใจเกิดความเหนื่อยล้า

มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เราต้องการการอยู่รอด นอกจากนี้มนุษย์แสวงหาการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมโดยสัญชาติญาณอยู่แล้ว (Gibson 1977) ดังนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องรับและประมวลข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ล้อมรอบตลอดเวลา กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ ความรู้สึก และพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ และยังผลไปสู่ความมีชีวิตรอดของมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นมนุษย์จึงสามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นสามารถอำนวยคุณประโยชน์หรือส่งผลต่อความอยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่เมื่อเราต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีองค์ประกอบซึ่งซับซ้อนหรือต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรับรู้และปรับตัว เช่น พื้นที่เมืองที่มีสิ่งเร้ามากมาย มนุษย์ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการแปลความหมายจากสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อนทั้งในเชิงองค์ประกอบและเชิงสัญลักษณ์ และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดภาวะเหนื่อยล้าทางจิตใจ (fatigue) และความต้องการการฟื้นฟูจิตใจจากความเครียดที่มีต่อสภาวะแวดล้อมนั้น ๆ (restoration)

พื้นที่สีเขียวช่วยให้ลดความเครียดและความเหนื่อยล้าทางจิตใจได้อย่างไร

ในทางตรงกันข้าม พื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ มีองค์ประกอบสำคัญต่อการมีชีวิตรอด ซึ่งเชื่อมโยงกับการก่อเกิดของสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ ภาพฉากหลังของพื้นที่ทางธรรมชาติ เช่น ทะเล ภูเขา ทะเลสาบ ป่า และทุ่งหญ้า ยังแสดงถึงลักษณะของสถานที่ทางอุดมคติของการปลีกตัว การสามารถเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติเหล่านี้จึงเป็นโอกาสที่มนุษย์จะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเพื่อปลีกตัวหลีกหนีออกจากความจดจ่อ (attention) และสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ เพื่อไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการรับรู้ แปลความหมาย และปรับตัว นอกจากนั้นธรรมชาติยังช่วยให้ความรู้สึกเชื่อมโยงและความเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงทำให้มนุษย์เกิดความผ่อนคลาย และช่วยลดความเหนื่อยล้าทางจิตใจเมื่อได้สัมผัส (Kaplan, 1992)

สงวนลิขสิทธิ์ © ศูนย์อยู่ดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 239 ถ.ห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300

bottom of page